ชนิดของสิว

สิว (Acne) คือ

ความผิดปกติอย่างหนึ่งของผิวหนังเป็นภาวะการอุดตันของระบบต่อมไขมันและความผิดปกติบริเวณรูขุมขนซึ่งสิวสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย เช่น ใบหน้า หน้าอก หลังช่วงบนหรือไหล่ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดบนใบหน้า เนื่องจากมีต่องเหงื่อและต่อมไขมันปริมาณมาก โดยสิวสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและมีอยู่หลายประเภทตามลักษณะของความผิดปกติ
บนผิวหนัง

สาเหตุของการเกิดสิว 

สาเหตุหลักของการเกิดสิวนั้นเกิดจากการอุดตันของคอมีโดน (Comedones) และปัจจัยกระตุ้นให้เกิดทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 2 ปัจจัยหลักได้ดังนี้

      1. สาเหตุจากปัจจัยภายในร่างกาย มักเกิดจากสุขภาพร่างกายของเราเอง เช่น ฮอร์โมน ลักษณะผิวพรรณ โรคเรื้อรังบางชนิด หรือกรรมพันธุ์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก
      2. สาเหตุจากปัจจัยภายนอกร่างกาย เป็นปัจจัยจากภายนอกที่สามารถส่งผลกระทบและกระตุ้นให้เกิดสิวได้ง่าย เช่น ยา ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเครื่องสําอางบางชนิด สภาพแวดล้อม แสงแดด อุณหภูมิ และอาหาร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ ประเภทของสิว

สิวแต่ละประเภทจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไปด้วย   ซึ่งหลักๆแล้ว สิวสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก โดยแต่ละประเภทนั้นยังสามารถแบ่งออกได้อีกหลายชนิด ดังนี้

1.  สิวอุดตันหรือสิวชนิดไม่อักเสบ (Non-inflammatory acne) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามลักษณะของหัวสิว ได้แก่

สิวหัวปิด หรือ สิวหัวขาว (Whiteheads) เป็นสิวอุดตันที่ไม่มีรูเปิด มีลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็กใต้ผิวหนัง เกิดจากการอุดตันสะสมของไขมันใต้ชั้นผิวและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้อาจกลายเป็นสิวอักเสบได้

คำแนะนำ : ไม่ควรกดหรือบีบสิวย้ำๆหากหัวสิวยังไม่เปิด เพราะอาจทำให้สิวติดเชื้อและกลายเป็นสิวอักเสบ ซึ่งอาจนำไปสู่การการเกิดหลุมสิวได้ในที่สุด

สิวหัวเปิด หรือ สิวหัวดำ (Blackheads) มีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีดำเล็กๆ เกิดจากรูขุมขนอุดตันเซลล์ผิวที่ตายแล้ว โดยจะมีรูเปิดจนเห็นหัวสิวและจุดสีดำที่เกิดจากน้ำมันที่อัดแน่นอยู่กับเซลล์ผิวเก่า ทำปฏิกิริยา Oxidation กับออกซิเจนในอากาศ โดยมักจะพบมากบริเวณหน้าผาก จมูก และคาง

คำแนะนำ : ควรกดหัวสิวออกอย่างถูกวิธี


2.  สิวชนิดอักเสบ (Inflammatory acne) สิวอุดตันที่มีอาการอักเสบร่วมด้วย มักจากสิวหัวปิดที่ไม่ได้รับการรักษาและการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ P.acne (propionibacterium acnes) หรือชื่อใหม่เรียกกันว่า C.acne (Cutibacterium acnes) ในรูขุมขน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 4 ชนิด ได้แก่

สิวตุ่มแดง (Papule) เป็นสิวหัวแดงขนาดเล็กไม่เกิน 0.5 ซม. มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแข็งใต้ผิวหนัง ไม่มีหัวหรือหนอง เมื่อสัมผัสหรือลูบจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อย ซึ่งอาจเกิดได้จากการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมกับการอุดตันของรูขุมขนหรือพัฒนาจากสิวอุดตันที่ถูกกด บีบ แคะ หรือแกะ จนกลายเป็นสิวอักเสบ

คำแนะนำ : ไม่ควรกดหรือบีบ ทำความสะอาดผิวหน้าให้สะอาดอย่างอ่อนโยน หากเป็นมากควรปรึกษาแพทย์

สิวหัวหนอง (Pustule) ตุ่มสิวสีแดงและมีหนองตรงกลางเม็ดสิว เกิดจากแบคทีเรียพร้อมและการอุดตันของรูขุมขน รวมถึงการถูกรบกวนจากการสัมผัส แกะ บีบ จนหนองก่อตัวขึ้นมาที่ใต้ผิวหนัง

คำแนะนำ : ทำความสะอาดผิวหน้าให้สะอาด ไม่ควรแกะหรือบีบบ่อยๆ หากเป็นมากควรเข้ารับการรักษากับแพทย์

สิวอักเสบขนาดใหญ่ (Nodule) อาจพบเป็นหลายหัวสิวที่อยู่ติดกัน จึงทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ มักจะเกิดจากการกดหรือบีบสิวตุ่มนูนแดง ทำให้แบคทีเรียและน้ำมันแตกระจายอยู่ใต้ผิวหนังจนเกิดเป็นสิวอักเสบขนาดใหญ่

คำแนะนำ : ไม่ควรบีบสิวอักเสบในระยะแรกและไม่ควรสครับผิว

สิวหัวช้าง (Cyst) สิวอักเสบชนิดรุนแรง มีลักษณะก้อนนูนแดงขนาดใหญ่ มีความนุ่ม (ภายในอาจมีหนองปนเลือด) มักเกิดในผิวหน้าที่มีความมันมากและมีโอกาสเกิดเกิดหลุมสิวได้มากที่สุด

คำแนะนำ : ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา หากรักษาไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดสิวอักเสบลุกลามและอาจเกิดหลุมสิวขนาดใหญ่ได้


มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิวอีก 2 ประเด็นคือ สิ่งที่ไม่ใช่สิว แต่หลายคนเข้าใจว่าเป็นสิว ได้แก่

1.  สิวเสี้ยน (Sebaceous Filament) สิวเสี้ยน อันที่จริงแล้วไม่นับว่าเป็นสิว แต่เป็นเส้นใยไขมันที่เกาะอยู่ตามท่อของรูขุมขน ซึ่งเป็นไขมันปกติที่เกิดขึ้นในผิวที่มีความมันมากเป็นพิเศษ เช่น จมูก ร่องจมูก หน้าผาก และคาง


2.  สิวผด สิวเทียม หรือสิวหิน (Acne aestivale) มีลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็กสีแดงจำนวนมากคล้ายเม็ดทรายกระจายอยู่ทั่วใบหน้า ทำให้ผิวหน้ามีรอยแดง บางรายอาจมีอาการแสบและคันร่วมด้วย ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

รูขุมขนอักเสบจากเชื้อราประเภทยีสต์ (Malassezia folliculitis)

แสงแดด สภาพอากาศที่ร้อนและอับชื้น

อาการแพ้ เช่น แพ้เหงื่อ แพ้น้ำ แพ้ฝุ่น แพ้อากาศร้อนหรือเย็นจัด

เกิดจากการระคายเคืองบนผิวหนังจากสารเคมีในเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหนัง เช่น โฟมล้างหน้า ครีมทาผิว

มลภาวะต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมทั้งทางน้ำและทางอากาศ

ดังนั้น สิวแต่ละชนิดจึงมีความรุนแรงและวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งหากเป็นสิวที่มีความรุนแรงระดับต้นจะมีโอกาสหายได้เองและมีโอกาสทิ้งรอยแผลเป็นไว้ต่ำหากดูแลความสะอาดของผิวหน้าได้ดี เช่น สิวหัวดำ สิวหัวขาว หรือสิวชนิดตุ่มนูนแดงประมาณ 1-2 เม็ด เป็นต้น แต่หากเป็นสิวที่มีความรุนแรงมากหรืออักเสบเฉียบพลันอย่างสิวอักเสบหรือสิวหัวช้าง อาจจำเป็นต้องใช้ยาและทำการรักษาโดยแพทย์อย่างถูกวิธีเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดรอยสิวและหลุมสิวขนาดใหญ่นั่นเอง